ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย

ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย

ภาวะ มวลกล้ามเนื้อน้อย (Sarcopenia) คือการลดลงของปริมาณและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในร่างกาย ส่งผลให้มีสมรรถภาพทางกายที่เสื่อมถอยลง โดยเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงจะประมาณร้อยละ 1.5-5 ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลงเร็วขึ้น เช่น การไม่ออกกำลังกาย ผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียง โรคอ้วน หรือมีอาการแทรกซ้อนจากโรคบางอย่าง เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็งระยะแพร่กระจาย เป็นต้น

ผู้สูงอายุที่มีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย พบว่าภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยสัมพันธ์อย่างมากกับการทรงตัวที่ไม่ดี และก่อให้เกิดการหกล้มได้ง่าย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายและกระดูกหัก รวมถึงทำให้เกิดภาวะเปราะบาง จนอาจกระทบถึงการที่ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามเดิม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุที่มีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย หากเจ็บป่วยด้วยภาวะอื่นๆ จะเพิ่มโอกาสความรุนแรงของตัวโรคและอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น รวมไปถึงอัตราการเสียชีวิต

การวินิจฉัยภาวะ มวลกล้ามเนื้อน้อย ประกอบด้วย

  1. การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ สามารถทดสอบได้ จากใช้อุปกรณ์ในการวัดแรงบีบมือ 
  2. การวัดสมรรถภาพทางกาย สามารถวัดได้จากความเร็วในการเดิน และทดสอบการทรงตัว จากการลุก-นั่ง
  3. การวัดปริมาณมวลกล้ามเนื้อ สามารถตรวจได้ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า เครื่อง DXA (Dual Energy X-ray Absortiometry) และเครื่อง BIA (Bioelectrical Impedence Analysis) โดยทั้ง 2 เครื่องนี้ สามารถวัดปริมาณมวลกล้ามเนื้อได้ทั่วร่างกาย และยังวัดสัดส่วนของไขมันได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

ข้อแนะนำสำหรับผู้สูงวัย หลังการวินิจฉัยภาวะ มวลกล้ามเนื้อน้อย 

หากผู้สูงวัยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ควรเริ่มดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการหกล้ม ร่วมกับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนอย่างเพียงพอ แต่สำหรับผู้สูงวัยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยขั้นรุนแรง ควรได้รับการประเมินและการดูแลรักษาต่อไปจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงหาสาเหตุหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

วิธีง่ายๆ ในการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้กับร่างกาย

  1. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และทานอาหารที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา ไข่ขาว นมถั่วเหลือง เต้าหู้ เป็นต้น โดยปริมาณของโปรตีนที่ร่างกายควรได้รับ คืออย่างน้อย 1-1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว แต่หากมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคไต อาจต้องการปริมาณโปรตีนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผู้สูงวัยจึงควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน เพื่อควบคุมปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับในแต่ละวัน 
  1. การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การออกกำลังกายโดยใช้ยางยืด ท่ากายบริหารสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแต่ละมัด การยกน้ำหนัก  การออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัว เช่น โยคะ การรำมวยจีน เป็นต้น การออกกำลังกายชนิดนี้ควรทำให้ได้อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ หรือรวมกันให้ได้อย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ 

นอกจากนี้ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น โดยเราควรออกต่อเนื่องตั้งแต่ 10 นาทีขึ้นไป และออกกำลังกายอย่างน้อย 4-5 วันต่อสัปดาห์หรือรวมกันให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ตัวอย่างการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน การเต้นรำ เป็นต้น

อ่านบทความดีๆ เกี่ยวกับการดูแลตัวเองฉบับผู้สูงอายุได้ที่ วางแผนชีวิตวัยเกษียน

สรุป ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย เป็นภาวะที่จัดอยู่ในกลุ่มอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เมื่อมวลกล้ามเนื้อลดลง จะส่งผลทำให้ความแข็งแรงของร่างกายลดลง สมรรถภาพทางกายลดน้อยลง อาจทำให้มีปัญหาในด้านการทรงตัว  เกิดการบาดเจ็บหรือการหกล้มได้ง่ายขึ้น ดังนั้นผู้สูงอายุทุกคนควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และดูแลรักษาโรคประจำตัวให้อยู่เกณฑ์ที่ดี เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย หรือชะลอการลดลงของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วได้

ที่มา
  1. ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม, สุรเมธ อิสรานุวัฒน์ชัย และเกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์. 2561. Sarcopenia in Older Adults. ใน เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์และคณะ (บ.ก.), ตำราเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ. (น.313-34). กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์. 
  2. Chen LK, Woo J, Assantachai P, Auyeung TW, Chou MY, Iijima K, Jang HC, Kang L, Kim M, Kim S, Kojima T, Kuzuya M, Lee JSW, Lee SY, Lee WJ, Lee Y, Liang CK, Lim JY, Lim WS, Peng LN, Sugimoto K, Tanaka T, Won CW, Yamada M, Zhang T, Akishita M, Arai H. Asian Working Group for Sarcopenia: 2019 Consensus Update on Sarcopenia Diagnosis and Treatment. J Am Med Dir Assoc. 2020 Mar;21(3):300-307.e2. doi: 10.1016/j.jamda.2019.12.012. Epub 2020 Feb 4. PMID: 32033882.
  3. Cruz-Jentoft AJ, Baeyens JP, Bauer JM, Boirie Y, Cederholm T, Landi F, Martin FC, Michel JP, Rolland Y, Schneider SM, Topinková E, Vandewoude M, Zamboni M; European Working Group on Sarcopenia in Older People. Sarcopenia: European consensus on definition and diagnosis: Report of the European Working Group on Sarcopenia in Older People. Age Ageing. 2010 Jul;39(4):412-23. doi: 10.1093/ageing/afq034. Epub 2010 Apr 13. PMID: 20392703; PMCID: PMC2886201.