อาหารเสริม จำเป็นหรือไม่ สำหรับผู้สูงอายุ

อาหารเสริม จำเป็นหรือไม่ สำหรับผู้สูงอายุ

อาหารเสริม จำเป็นหรือไม่ สำหรับผู้สูงอายุ

อาหารเสริม จำเป็นหรือไม่ สำหรับผู้สูงอายุ

ในปัจจุบัน ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้สูงอายุหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งในด้านของการออกกำลังกาย และการทานอาหารเพื่อสุขภาพ แน่นอนว่าปัจจัยเหล่านี้ อาจตอบโจทย์การดูแลสุขภาพไม่เพียงพอ จึงทำให้ผู้สูงอายุหลายท่าน หันมาบริโภค อาหารเสริม เป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของธุรกิจอาหารเสริม รวมถึงโฆษณาชวนเชื่อจากแบรนด์อาหารเสริมต่างๆ ที่พบเห็นได้ในหลายช่องทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ วิทยุ โซเชียลมีเดีย การรีวิวสินค้าจากเหล่าคนดัง หรือการชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเพื่อนๆ ทำให้ผู้สูงอายุหลายท่านเกิดความสนใจ และเลือกอาหารเสริมเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตัวเอง 

ทั้งนี้ หากเลือกทาน อาหารเสริมที่ไม่ตรงกับความต้องการของร่างกาย หรือทานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี อาจก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายของผู้สูงอายุ มากกว่าจะได้รับประโยชน์ต่อสุขภาพ เราจึงควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำในการบริโภคอาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ท่านมีข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ไม่หลงเชื่อโฆษณาจากแบรนด์ต่างๆโดยง่าย 

โดยข้อมูลหลักๆ ที่ผู้สูงอายุควรทราบ เพื่อตัดสินใจซื้อ อาหารเสริมแต่ละประเภทนั้น ต้องดูตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่เราจะบริโภคว่า เป็นอาหารเสริม ประเภทไหน มีสารอะไรเป็นส่วนประกอบสำคัญบ้าง ซึ่งส่วนประกอบหลักใน อาหารเสริม ส่วนใหญ่ มักจะมีวิตามิน กรดอะมิโน กรดไขมัน แร่ธาตุ สารสกัดจากพืชและสัตว์ เป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์นั้น

นอกจากนี้ ยังมีสารเข้มข้นต่างๆ  ได้แก่ สารเมตาโบไลท์ สารสกัดจากสมุนไพร สารสังเคราะห์เลียนแบบ มาเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์รูปแบบ เม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลว หรือประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในรูปแบบอาหารตามปกติ เพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น ซึ่งแบรนด์ อาหารเสริม เหล่านี้ มักมีการโฆษณาชวนเชื่อในด้านของสรรพคุณ ว่าช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดไหน ก็ต้องผ่านการตรวจสอบ และควบคุมส่วนประกอบตามที่กฎหมายระบุทั้งหมด เช่น มีการควบคุมปริมาณของจุลินทรีย์ ปริมาณสารพิษตกค้าง ปริมาณวิตามินและแร่ธาตุ ที่ไม่เกินความต้องการของร่างกาย ตลอดจนถึงการใช้ภาชนะที่ได้มาตรฐานมาบรรจุ อาหารเสริม และติดฉลากของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังต้องได้รับการอนุมัติและขออนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคจริงๆ

 ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภค จึงควรทราบข้อมูลบนฉลาก อาหารเสริม ดังนี้

  • ชื่ออาหาร 
  • เลขที่ผลิตภัณฑ์
  • ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า 
  • ชื่อและปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บรรจุ 
  • ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและส่วนประกอบที่มีการ กล่าวอ้างสรรพคุณ 
  • มีข้อความชัดเจนว่า “การได้รับสารอาหารต่าง ๆ นั้น ควรได้จากการบริโภคอาหารหลักที่หลากชนิด ครบทั้ง 5 หมู่ และเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะ”

โดยเราจะต้องดูว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์นั้น มีการระบุคำแนะนำ วิธีการบริโภค วันที่ผลิตและวันหมดอายุ คำเตือนการบริโภค กำหนดไว้อย่างถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันอาการแพ้ยา หรือเกิดผลเสียต่อสุขภาพของเราในระยะยาวนั่นเอง

สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างไร

วันนี้เรามี 4 ขั้นตอนในการเลือกซื้อ อาหารเสริมให้ปลอดภัยมากที่สุด มาฝากทุกคนกัน

1. เช็คให้แน่ใจก่อนว่า  อาหารเสริมอาหารจำเป็นต่อสุขภาพของเราหรือไม่

เพราะการทานอาหารเสริมนั้น เป็นเพียงการเพิ่มสารอาหารให้กับร่างกาย แต่ไม่สามารถทานแทนอาหารมื้อหลักได้ เราจึงควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ซึ่งเราสามารถดูได้จาก “ตารางโภชนาการอาหาร 5 หมู่ สำหรับผู้สูงอายุใน 1 วัน”

เมื่อเราคำนวนแล้ว หากพบว่าร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน ก็ไม่มีความจำเป็นในการบริโภคอาหารเสริมเลย เพราะหากผู้สูงอายุได้รับสารอาหารเกินความจำเป็นของร่างกาย โดยเฉพาะสารสกัดเข้มข้นที่มีฤทธิ์ต่างๆ อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ อันตรายจนถึงชีวิตได้

ซึ่งถ้าเราไม่แน่ใจว่าควรบริโภคอาหารเสริมหรือไม่ ควรปรึกษานักโภชนาการหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมในการบริโภคอาหารเสริม อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ การตรวจคัดกรองมะเร็ง สำหรับผู้สูงอายุ

2. อาหารเสริม มีประโยชน์จริงหรือไม่

แม้เราจะได้ยินมาว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลายแบรนด์ อ้างว่าสามารถบรรเทาอาการปวด รักษาโรค บำบัดโรคมะเร็งได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น อาหารเสริมเหล่านี้ไม่มีผลในการรักษาทางการแพทย์เลย

โดยส่วนใหญ่ ฉลากบนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ จะมีการระบุว่ามีสารอาหารประเภทไหนบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ และหน้าที่ของสารอาหารเหล่านี้คืออะไร ยกตัวอย่าง “โปรตีน จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และช่วยซ่อมแซ่มร่างกายในส่วนที่สึกหรอ เสริมสร้างกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการสร้างโปรตีนให้กับร่างกาย” หรือ “ใยอาหาร ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายให้เป็นปกติ” เป็นต้น 

หากผู้สูงอายุได้รับข้อมูลนอกเหนือจากที่ระบุข้างฉลาก สามารถสอบถามสายด่วน อย. (เบอร์โทรศัพท์ 1556) หรือสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดูว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอดภัยหรือไม่

3. อาหารเสริม มีความปลอดภัยหรือไม่

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพหรือก่อให้เกิดอาการแพ้ยา ได้เช่นเดียวกับยารักษาโรคทั่วไป เราสามารถสังเกตได้จากประโยค “เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน” ที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ 

นอกจากนี้ ยังมีคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์อื่นๆ สำหรับผู้บริโภค เช่น

  1. น้ำมันปลา:  “ผู้แพ้ปลาและน้ำมันปลา ไม่ควรรับประทาน” 

                 “ระมัดระวังในการบริโภค สำหรับผู้ที่เลือดแข็งตัวช้า หรือผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือแอสไพรลิน” 

  1. น้ํามันอีฟนิ่งพริมโรส: “ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก  และควรระมัดระวังในการบริโภคสำหรับผู้ที่ได้รับยารักษาโรคลมชัก”
  1. ใยอาหาร: “เพื่อป้องกันภาวะอุดตันของลำไส้ที่อาจเกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ประเภทใยอาหารชนิดแห้ง ควรรับดื่มน้ำตาม 1-2 แก้ว”
  2. สารสกัดจากใบแปะก๊วย:   “อาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้า” 

ดังตัวอย่างที่เราเห็นด้านบน จากคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ผู้สูงอายุควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรประจำร้าน ก่อนตัดใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้สูงอายุเอง โดยสามารถพิจารณาต่อความจำเป็น รวมถึงโรคประจำตัวของผู้รับประทาน เพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

4. อาหารเสริม มีราคาเหมาะสมไหม

เมื่อพิจารณาจากประโยชน์และความจำเป็นในการบริโภค ที่จะได้รับจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจได้รับการรับประทานแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ผู้สูงอายุควรคำนึงไม่แพ้กัน คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้ มีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับคุณภาพที่เราจ่ายไปหรือไม่

โดยผู้สูงอายุสามารถตรวจสอบคุณภาพขอผลิตภัณฑ์ (เลขใบสำคัญ หรือเลขสารบบอาหาร)  ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์แบรนด์นี้ ผ่านการรับรองคุณภาพโดย อย. มาแล้วจริงๆ

นอกจากนี้ ยังมีวิธีตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแบรนด์นี้ ได้รับอนุญาตจาก อย. จริงหรือไม่ โดยดูได้จาก “ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อผู้ได้รับอนุญาติ สถานที่ผลิต” เพื่อป้องกันการสวมรอยเลข อย.ปลอม โดยเราสามารถตรวจสอบเลขที่ผลิตภัณฑ์ จากหลายช่องทาง ได้แก่

  • สายด่วน อย. โทร 1556 
  • เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th
  • เว็บไซต์ www.oryor.com
  • Line : FDAthai
  • Oryor Smart Application

อ้างอิงจาก
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ประกาศสำ นักงานคณะกรรมการอาหาร และยา เรื่อง คำ ชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 293) พ.ศ.2548 เรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และประกาศกระทรวง สาธารณสุข (ฉบับที่ 294) พ.ศ.2548 เรื่อง รอยัลเยลลีและผลิตภัณฑ์ รอยัลเยลลี (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2561. สืบค้นจาก www. fda.moph.go.th 
  • สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. สื่อความรู้ด้านโภชนาการ สำ หรับผู้สูงอายุ(ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2561. สืบค้นจาก www.nutrition.anamai.moph.go.th/ewt _news.php?nid=497 
  • ส่วนอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. อาหารและโภชนาการ สำ หรับผู้สูงอายุ(ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 3 มิถุนายน 2561. สืบค้นจาก www.hp.anamai.moph.go.th/soongwai/ statics/ health/10care/topic001.php#top
  • ตำราโกงอายุ คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี