พินัยกรรมชีวิต คืออะไร? ทำไมผู้สูงอายุจึงควรวางแผนชีวิตช่วงเกษียน
ถ้าวันนี้ ชีวิตของคนเราเข้าใกล้ช่วงปลายชีวิต จะมีสักกี่คนวางแผนเพื่อเตรียมตัวใช้ชีวิตในวัยนี้ ให้คุ้มค่ามากที่สุด ยิ่งสังคมในปัจจุบันที่อยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยว หรืออยู่เพียงคนเดียว หากวันหนึ่ง คุณต้องเผชิญกับเรื่องไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยทางกายและใจ ไม่รู้ว่าจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร วันนี้ นักสังคมสงเคราะห์ จะมาแนะนำ พินัยกรรมชีวิต ให้ทุกคนรู้จักกันค่ะ
นักสังคมสงเคราะห์: สวัสดีครับ คุณลุงคุณป้า วันนี้เราจะมาคุยกัน เรื่องการวางแผนดูแลตนเองในระยะยาวกันครับ
ป้าลำดวน: มันจำเป็นต้องคุยตอนนี้เลยหรือคะ ป้าเพิ่งอายุ 65 ปี ลุงเขาก็อายุ 68 ปีเองนะ ป้าดูแลตัวเองได้สบายๆ อีกอย่าง ป้ายังไม่รู้เลย ว่านักสังคมสงเคราะห์คือใคร ทำงานเกี่ยวกับอะไร
นักสังคมสงเคราะห์: นักสังคมสงเคราะห์ มีบทบาทและหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย หรือผู้ที่มีปัญหาด้านสังคม อารมณ์ จิตใจและจิตวิญญาณ รวมทั้งการทำหน้าที่ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยนั้น ตระหนักและเห็นคุณค่าในตนเองมากยิ่งขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยได้ โดยนักสังคมสงเคราะห์จะช่วยประสานกับฝ่ายวิชาชีพต่างๆ ตลอดจนเป็นตัวกลางในการสนับสนุนระหว่างผู้ป่วยและทีมการแพทย์ เพื่อให้กระบวนการรักษาเป็นไปได้ด้วยดี
โดยมีการนำเครื่องมือ เทคนิคและทักษะต่างๆ มาใช้ในการประเมินแก้ปัญหา เพื่อวิเคราะห์และให้คำปรึกษาในด้านการบำบัดแก่ผู้ป่วยต่อไป ไม่ว่าจะเป็น การจัดกิจกรรมกลุ่มบำบัด ศิลปะบำบัด และครอบครัวบำบัด เป็นต้น
ลุงสมดุล : แล้วลุงกับป้า ต้องวางแผนอะไรบ้างหรอ
นักสังคมสงเคราะห์ : ดูแล้ว คุณลุงกับคุณป้ายังแข็งแรงดีอยู่นะครับ ผมขอชื่นชมที่ท่านทั้งสอง ดูแลสุขภาพของตัวเองได้ดีทีเดียว ตอนนี้คุณป้าและคุณลุง ยังช่วยเหลือ ดูแลตัวเองได้ดี แต่ในอนาคตนั้น คุณลุงและคุณป้าอาจช่วยเหลือตัวเองน้อยลงกว่านี้ เพราะมีปัญหาทางสุขภาพ เช่น ทานอาหารเองได้ลำบากขึ้น เข้าห้องน้ำด้วยตัวเองไม่สะดวก ดังนั้น การวางแผนรักษาตัวเองในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ไม่ทราบคุณลุงคุณป้า เคยวางแผนมาก่อนหรือไม่ครับ
ลุงสมดุล : โอ๊ย! จะคิดเยอะทำไมล่ะพ่อหนุ่ม ปล่อยให้มันเกิดขึ้น “แล้วแต่บุญแต่กรรม” เลย ถ้าจะตายก็ต้อง ตายนะ
นักสังคมสงเคราะห์ : อย่างนี้ดีไหมครับ วันนี้ผมขอแนะนำเรื่อง “การวางแผนเพื่อดูแลตนเองในระยะยาว” หรือ พินัยกรรมชีวิต เพื่อให้คุณป้าเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการวางแผนรักษาตัวเองมากขึ้นครับ
ป้าลำดวน : เอาสิ
นักสังคมสงเคราะห์ : การวางแผนเพื่อดูแลตัวเองในระยะยาว มีทั้งหมด 3 ส่วนด้วยกัน คือ
- ให้ความสำคัญ สำหรับเป้าหมายการรักษาในอนาคต
เมื่อถึงวาระสุดท้ายของตนเอง เราจะรู้ได้ ต่อเมื่อคนไข้รับรู้แล้วว่าป่วยเป็นโรคออะไร รักษาถึงขั้นไหน แล้วการรักษาจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง หากป่วยจนถึงระยะสุดท้าย คนไข้อาจขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน และอยากพูดคุยกับคนในครอบครัว ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งถึงแม้ว่า การสวดมนต์หรือเปิดเพลงที่ฟังแล้วสบายใจ อาจจะไม่มีผลในด้านกฎหมาย แต่มีความสำคัญสำหรับตัวคนไข้เองอย่างมาก
คุณป้าอาจลองศึกษา พินัยกรรมชีวิต หรือ “Living will” หากคุณป้าสนใจจะลองทำ ทางคลินิกมีเอกสารเพื่อให้คุณป้าวางแผนจัดการด้วยตัวเองครับ โดยผมจะประสานงานกับมูลนิธิ พุทธิกา เพื่อขอเอกสารส่งให้คุณป้าโดยตรง
- แสดงเจตจำนงว่าจะรับ/ไม่รับการดูแลรักษา
เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต สิ่งที่แพทย์ต้องทำ คือการวินิจฉัยว่าคนไข้นั้น
อยู่ในสภาวะที่ต้องทำตามพินัยกรรมชีวิตแล้วหรือยัง ซึ่งหากคุณป้าได้วางแผน
และจัดการชีวิตของตัวเองตามเอกสารพินัยกรรมชีวิตในข้อ 1 จะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจ
แทนได้ ในกรณีที่คุณป้าสูญเสียสติสัมปชัญญะไปแล้วนะครับ
- การเลือกบุคคลใกล้ชิด ที่ตัดสินใจแทน
ในกรณีที่คุณป้า ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองแล้ว แพทย์จะทำการวินิจฉัย
เพื่อดูว่าจะรักษาต่อไปหรือหยุดการรักษา ผ่านการขออนุญาติจากบุคคลใกล้ชิด
หรือบุคคลในครอบครัว ที่คุณป้าระบุให้สามารถตัดสินใจแทนได้ครับ
โดยขั้นตอนการวางแผนเพื่อดูแลตัวเองในระยะยาวนั้น จะเน้นไปที่กระบวนการสื่อสาร
ระหว่างผู้แสดงเจตนากับคนไข้ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในครอบครัว เช่น ญาติของคนไข้
หรือบุคลากรทางการแพทย์ (NHSOPCN, 2011)
ป้าลำดวน : มันเยอะจัง ป้าไม่รู้เรื่องหรอก แต่ป้าก็คิดว่ามันสำคัญนะ พอป้ามาคิดดู ถ้าป้าป่วย ไม่มีสติ คงไม่สามารถบอกพวกคุณได้หรอก ว่าป้าต้องการให้ทำยังไงกับป้าบ้าง ถ้าไม่ทำพินัยกรรมชีวิต ป้าอาจไม่ได้รับการรักษาแบบที่ป้าอยากได้ แต่ป้าจะรู้เรื่องการรักษาได้ยังไง ว่าป้าควรใช้หรือไม่ใช้เครื่องมืออะไรบ้างล่ะพ่อหนุ่ม
นักสังคมสงเคราะห์ : ส่วนอุปกรณ์ หรือเรื่องการรักษาต่างๆ คุณลุงคุณป้าสามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อท่านจะได้อธิบายให้คุณลุงคุณป้าฟัง ในส่วนที่คุณป้าสงสัยนะครับ คุณป้าจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องตามความชำนาญของแต่ละวิชาชีพ ซึ่งเบื้องต้นผมอาจจะให้ข้อมูลคุณป้าไว้เท่านี้ หากคุณป้าสงสัยส่วนไหน สามารถปรึกษานักสังคมสงเคราะห์เพิ่มเติมได้เลยครับ
อ่านบทความดีๆ เกี่ยวกับการดูแลตัวเองฉบับผู้สูงอายุ ได้ที่ อาหารเสริม จำเป็นหรือไม่ สำหรับผู้สูงอายุ